วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

พระนางพญา กรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก

พระนางพญาพิษณุโลก จัดว่าเป็นพระเนื้อที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นพระชั้นนำที่สุดของเมืองพิษณุโลกและถูกจัดให้เป็นพระในชุด “เบญจภาคี” ที่ถือว่าสุดยอดของประเทศไทยอีกด้วย พระนางพญากำเนิดที่ “วัดนางพญา” พิษณุโลกความจริงวัดนางพญาก็เป็นวัดเดียวกับ “วัดราชบูรณะ ต่อมาภายหลังได้สร้างถนนผ่ากลางเลยกลางเป็น 2 วัด ชื่อของ พระนางพญา น่าจะมาจากสถานที่ที่ค้นพบนั่นตามการสันนิฐาน


พระนางพญานั้นเป็นผู้ที่สร้างคือ “พระวิษุสุทธิกษัตรี” มเหสีของ “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ผู้ที่ได้สร้างหรือปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบพระนางพญานั่นเอง เข้าใจว่าการสร้างพระนางพญานั้นประมาณปี พ.ศ. 2090 – 2100 หรือประมาณสี่ร้อยกว่าปี พระนางพญา เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยมทุกพิมพ์นั่งมารวิชัยไม่ประทับบนอาสนะหรือมีฐานรองรับ รูปทรงงดงามแทบทุกพิมพ์โดยเฉพาะจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับ “ผู้หญิง” จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่าพระพิมพ์ “นางพญา” อีกประการหนึ่งก็คือผู้ที่สร้างก็คือ “พระวิสุทธิกษัตรี” นั่นเอง


พระนางพญาถูกค้นพบเมื่อประมาณ พ.ศ. 2444 สมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก ทางจังหวัดจึงเตรียมการรับเสด็จที่วัดนางพญา โดยจัดการสร้างปะรำพิธีรับเสด็จ เมื่อคนงานขุดหลุมก็เกิดพบพระจำนานมาก ก็คือพระนางพญานั่นเอง ทางจังหวัดและเจ้าอาวาสก็เก็บพระเหล่านั้นไว้ พอสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จ ทางเจ้าอาวาสและทางจังหวัดก็ได้นำพระขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพุทธเจ้าหลวงก็ได้ทรงแจกจ่ายให้แก่ราชบริพารที่ตามเสด็จถ้วนหน้า ส่วนที่เหลือก็นำกลับกรุงเทพฯ
พระนางพญาถูกค้นพบต่อมาอีกหลายกรุ แต่ก็เป็นพระพิมพ์เดียวกันกับพระที่พบที่วัดนางพญาทุกอย่าง และเนื้อพระก็เนื้อเดียวกัน อาจจะแตกต่างกันก็เพียงภูมิประเทศที่ค้นพบ เช่น พบที่บ้าน “ตาปาน” บริเวณนี้น้ำท่วมประจำ พระเสียผิวมีเม็ดแร่ลอยมาก จึงเรียกว่า “กรุน้ำ” ในปี พ.ศ. 2479 มีผู้พบพระนางพญา ที่วัด “อินทรวิหาร” บรรจุอยู่ในบาตรที่เจดีย์องค์เล็ก

ต่อมามีผู้ค้นพบพระนางพญาที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) ในกรุงเทพฯ พบที่ “พระราชวังบวรมงคล” (วังหน้า) พบที่ “วัดสังขจาย” ฝั่งธนบุรี ครั้งสุดท้ายพบที่ “วัดราชบูรณะ” จังหวัดพิษณุโลกอีกครั้ง เมื่อมีการทำท่อระบายน้ำในบริเวณวัดในประมาณปี พ.ศ. 2532


พระนางพญา เป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ ปรากฏแร่กรวดทรายผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จ จึงนำไปเผา พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อผสมว่านน้อยหรืออาจจะไม่มี เนื้อพระจึงดูค่อนข้างหยาบ แกร่งและแข็งมาก ที่เป็นเนื้อละเอียดจะผสมว่านมาก ทำให้เนื้อพระหนึกนุ่มสวยงาม ก็มีแต่พบเห็นน้อย

ผู้รู้ได้จำแนกพิมพ์ทรงได้ทั้งหมด 7 พิมพ์ คือ


1. พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง


2. พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง
3. พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่
4. พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก
5. พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ

6. พระนางพญา พิมพ์อกแฟบ หรือ พิมพ์เทวดา


7. พระนางพญา พิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วง หรือ พิมพ์ใหญ่พิเศษ
พระนางพญาทุกพิมพ์ เป็นพระนั่งปางมารวิชัย กรอบตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีด้วยกัน 3 พิมพ์หลัก ได้แก่ พิมพ์ใหญ่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 พิมพ์ย่อยคือ พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง และพิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์กลาง ได้แก่ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เล็ก แบ่งออกได้ 2 พิมพ์ย่อยคือ พิมพ์อกแฟบ (เทวดา) และ พิมพ์อกนูนเล็ก ในด้านความนิยม พระนางพญาพิมพ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะได้แก่ พิมพ์เข่าโค้ง ส่วนพิมพ์ที่นิยมรองลงมาคือ พิมพ์เข่าตรง พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง มีขนาดใกล้เคียงกับพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง และมีพุทธลักษณะใกล้เคียงกันมาก จะมีข้อแตกต่างกันก็เพียง พระบาทและพระเพลาของพิมพ์เข่าตรง จะค่อนข้างตรงไม่เว้าโค้งลงด้านล่างแบบพิมพ์เข่าโค้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น