วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พุทธลักษณะพระนางพญา


พระนางพญา เข่าโค้ง

พระพักตร์ จะอูม เป็นรูปไข่ พระเกตุเป็นปลีปลายแหลม มองดูคล้ายเกตุเปลวเพลิง


พระกรรณ เป็นเส้นระบายอ่อนๆพริ้วลงมาประบ่า แลดูเป็นธรรมชาติ

พระศอ ปรากฎเส้นเอ็นเป็นเส้นทิวทั้งสองข้าง และตรงกลางอีกสองเส้นเป็นรอยจางๆ(ในองค์ที่ติดชัด) รวมทั้งรอยพระศอที่มองเป็นทิวแนวโค้งอยู่ใต้พระศอ องค์พระแลดูเพรียวบาง มีขอบสันเน้นเห็นสีข้างขององค์พระ และเห็นสังฆาฏิที่สโลปโค้งทางด้านบนเล็กน้อย และลากลงมาเป็นแนวเส้นที่มีขอบสันของสังฆาฏิ ช่วงบนดูแยกเกือบชิดติดกันกับเส้นอังสะซึ่งลากเป็นเส้นตรงแนวเฉียงผ่านพระอุระ โดยมีปลายแหลมวิ่งเลยไปชนใต้ท้องแขนด้านใน(มองเห็นเป็นแนวเส้นจางๆ)

พระกรข้างที่พาดพระเพลานั้นดูอ่อนช้อยเหมือนงวงช้างมีปลายพระหัตถ์จับเข้าใต้พระเพลาด้านใน และพระกรอีกข้างนั้นวางหงายลงบนที่หน้าตัก แลดูเป็นเส้นสันคมและปลายพระหัตถ์ในด้านนี้ถ้าสังเกตุให้ดี นอกจากจะมีเส้นแตกพิมพ์ คล้ายหัวแม่มืออยู่ด้านในข้างบนแล้ว ที่ปลายพระหัตถ์ยังมีเส้นแตกแยกกันคล้ายเป็นนิ้วกับมืออีกด้วย

พระกัสปะ(ข้อศอก)นั้นจะมีริ้วจีวรที่เป็นเส้นลากพริ้วลงไปหาที่ปลายพระบาท

พระเพลา ของพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งนี้ จะงอโค้งแอ่นขึ้นเหมือนท้องกะทะ ขาข้างขวาที่ซ้อนอยู่ด้านบน มองเห็นเป็นแนวเส้นคมเรียวบาง และวิ่งมาชนกับด้านในข้อมือข้างขวา ที่พาดกับพระเพลา






พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง

พระเกศ เป็นแบบเกศปลี โคนใหญ่ ปลายเรียว กระจังหน้าจะยุบเล็กน้อย

พระพักตร์ เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูลบมุมทั้งสี่ด้าน พระส่วนใหญ่จะเรียบร้อยไม่มีหน้าไม่มีตา แต่เฉพาะพระที่ติดพิมพ์ชัดเจนจะปรากฏรายละเอียดของ พระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ ถึงจะเป็นตาตุ่ยๆ แต่จะโปนมากกว่า

พระนลาฏ หน้าผากจะบุบเล็กน้อย มองเห็นไรพระศกด้านบนเด่นชัด

ไรพระศก โดยมากจะสังเกตลีลาการทอดไรพระศกกับพระกรรณเป็นสำคัญ ส่วนมากไรพระศกจะเป็นเส้นเล็กมีความคมชัดมาก วาดตามกรอบพระพักตร์ลงมาจรดพระอังสะทั้ง 2 ด้าน

พระกรรณ เป็นเส้นสลวยสวยงามมาก ตอนกลางของพระกรรณทั้งสองจะมีลักษณะอ่อนน้อยๆ เข้าหาพระศอ พระกรรณซ้ายจะยาวจรดพระอังสะ และเชื่อมต่อกับเส้นสังฆาฏิ

พระอังสะ และ พระรากขวัญ จะต่อกันเป็นแนวย้อยแบบท้องกระทะ แสดงไหล่ที่ยกสูงทั้งสองด้าน ระหว่างแนวซอกช่อง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นเสี้ยนเล็กๆ ขนานกันไป รอยดังกล่าวมักปรากฏตามซอกอื่นๆ อีกด้วย

พระอุระ นูนเด่นชัดมาก พระถันเป็นเต้านูนขึ้นมา โดยเฉพาะพระถันขวารับกับขอบจีวรซึ่งรัดจนเต้าพระถันนูนขึ้นมา ส่วนพระถันซ้ายมีเส้นสังฆาฏิห่มทับอยู่

พระอุทร นูนเด่นชัด ปรากฏพระนาภีเป็นรูเล็กเท่าปลายเข็มหมุด เหนือพระนาภีปรากฏกล้ามท้องเป็นลอนรวม 3 ลอน

พระพาหา แขนขวากางมากกว่าแขนซ้าย ปล่อยยาวลงมาจรดพระชงฆ์ พระพาหาซ้ายตรงรับกับส่วนองค์ และจะหักพระกัประแล้วทอดไปตามพระเพลา มีขนาดเล็กเรียวกว่าช่วงบน ทำการโค้งขึ้นงดงามมาก ปลายพระหัตถ์สุดที่บั้นพระองค์

พระเพลา เป็นเส้นตรงแบบสมาธิราบ โดยเฉพาะพระเพลาขวาเป็นเส้นตรงขนานกับรอยตัดกรอบด้านล่าง ทำให้เห็นว่าแข้งซ้อนห่างกันอย่างเด่นชัด


บรรดาพิมพ์ทรงของพระนางพญาทั้ง 7 พิมพ์ มีเพียง พิมพ์เข่าตรง เท่านั้น ที่ปรากฏว่ามีแม่พิมพ์อยู่ถึง 2 แบบ คือ พิมพ์เข่าตรง (ธรรมดา) และพิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) ซึ่งแม่พิมพ์ทั้ง 2 แบบนี้ มีเอกลักษณ์และรายละเอียดตำหนิของแม่พิมพ์แตกต่างกัน สามารถพิจารณาได้ดังนี้




พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง


ตำหนิของ พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (ธรรมดา) ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนดังนี้

พระเกศ คล้ายปลีกล้วย

พระนลาฏ ด้านซ้ายจะบุบมากกว่าด้านขวา และปรากฏกระจังหน้าชัดเจน

พระกรรณ ปลายหูซ้ายจะเชื่อมติดกับเส้นสังฆาฏิ ส่วนปลายหูขวาจะแตกเป็นหางแซงแซว

พระหัตถ์ ปลายพระหัตถ์ซ้ายจะแหลมและแตกเป็นหางแซงแซว ส่วนพระหัตถ์ขวาจะไม่ปรากฏนิ้วมือ


พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า


ตำหนิของ พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) ที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนดังนี้

พระเกศ คล้ายปลีกล้วย

พระนลาฏ ด้านซ้ายจะบุบมากกว่าด้านขวา และปรากฏเส้นกระจังหน้าติดกับพระเกศ ระหว่างเส้นกระจังหน้ากับหน้าผาก มีลายเส้นวิ่งขวางหน้าผาก 6 เส้น

พระกรรณ ปลายหูซ้ายจะเชื่อมติดเป็นเส้นเดียวกับเส้นสังฆาฏิ ส่วนปลายหูขวาจะแตกเป็นหางแซงแซว
เส้นอังสะ วิ่งเป็นเส้นตรงผิดกับพิมพ์เข่าตรง (ธรรมดา) และจะวิ่งชอนเข้าไปใต้รักแร้

พระอุระ มีกล้ามเนื้อนูน สีข้างดูคล้ายมีเนื้อมาพอกไว้

พระหัตถ์ ปลายพระหัตถ์ขวาวางอยู่บนหัวเข่าขวาปรากฏนิ้วมือยื่นลงไปด้านล่างใต้เข่า เป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์

พระบาท บริเวณปลายพระบาทซ้ายปรากฏเส้นแตกของแม่พิมพ์เห็นได้ชัด

ในอดีตมีผู้ท้วงติงและสงสัยกันว่า พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า น่าจะเป็นพระวัดโพธิญาณ หรือพระกรุโรงทอมากกว่าของวัดนางพญา เพราะมีส่วนคล้ายคลึงกับ พระนางพญากรุโรงทอ
แต่ปัจจุบันนี้ปัญหาดังกล่าวตกไป และมีการคลี่คลายปัญหาด้านพุทธศิลป์และพิมพ์ทรง ยอมรับเป็นสากลแล้วว่า พระนางพญา พิมพ์เข่าตรงมือตกเข่า เป็นพระของกรุวัดนางพญาอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น