วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระสมเด็จจิตรลดา




พระสมเด็จจิตรลดา พระกำลังแผ่นดิน



ประวัติพระสมเด็จจิตรลดา
ณ ชั่วโมงนี้ พระสมเด็จจิตรดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน ถือว่าเป็นพระที่หายาก พอๆ กับพระชุดเบญจภาคี

ด้วยความหายากนี้เอง ส่งผลให้ราคา เช่าชื้อล่าสุดสูงถึง ๑.๖ ล้านบาท นอกจากนี้แล้ว ใบกำกับพระ ก็มีการซื้อขายด้วย ในราคา ๗๐,๐๐๐ บาท ขึ้นไป หากถ้าเช่าทั้งพระ และใบรับรอง ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก




อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นพระเครื่องที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง แต่มิวายยังมีผู้ที่ไม่กลัวบาปกรรม กล้าทำของปลอมออกมาจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเป็นการแอบอ้างว่า เป็นพระของในหลวง ซึ่งถ้าเจอวางให้เช่าบูชาทั่วๆ ไป ให้เชื่อไว้ก่อนว่า เป็นพระเลียนแบบ หรือ พระปลอม นั่นเอง

พระสมเด็จจิตรดา มีการไหลเวียนในตลาดค่อนข้างน้อยมาก แต่มีพระปลอมมากถึง ๙๐%

สำหรับความเป็นมาของ พระสมเด็จจิตรลดา นั้น ถือว่าเป็นพระพุทธรูปพิมพ์องค์เดียวที่สร้างในเมืองไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้าง แต่ไม่ได้มีพิธีพุทธาภิเษก เหมือนเช่น พระเครื่อง เหรียญ หรือวัตถุมงคลอื่นๆ ที่จะต้องผ่านพิธีพุทธภิเษกเสียก่อน เพื่อให้มีพุทธานุภาพ โดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากวัดต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานพระบุญญาบารมีของพระองค์ท่าน ความมีศรัทธาปสาทะอย่างสุดซึ้ง ในพระบวรพุทธศาสนา และผลบุญกุศลที่พระองค์ทรง ตั้งมั่นอยู่ในการประกอบแต่กรรมดี ทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ ช่วยดลบันดาลให้พระพุทธรูปพิมพ์ ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้นสูงสุดด้วยพระพุทธานุภาพ และกฤตยานุภาพ คุ้มครองให้คลาดแคล้วผองภัยพิบัติ อำนวยความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ได้นำไปบูชา ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และประกอบแต่กรรมดี และอัญเชิญพระพุทธคุณด้วยพระราชหฤทัยอันมั่นคงในทศพิธราชธรรม ให้อยู่อย่างมั่นคงกับพระพุทธรูปพิมพ์องค์นี้

ทุกครั้งที่ทรงเทพิมพ์ด้วยพระหัตถ์ ในยามดึกสงัดเพียงลำพังพระองค์เดียว มีเพียงเจ้าพนักงาน ๑ คน ที่คอยถวายสุธารส และคอยหยิบสิ่งของต่างๆ ถวายตามพระราชประสงค์ การผสมผงวัตถุมงคลจะทรงผสมให้พอดีที่จะพิมพ์ให้หมด ในแต่ละครั้งเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระพิมพ์นี้ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ผู้รับพระราชทาน จงประพฤติปฏิบัติคุณงามความดีอยู่ในศีลธรรม และยึดมั่นในอำนาจแห่งพระพุทธคุณ ทรงกำชับให้เอาทองเปลวปิด ที่ด้านหลังขององค์พระก่อนนำไปบูชา

ขณะปิดทองให้ตั้งจิตเป็นสมาธิ อธิษฐาน ขอให้ความดีงามที่มีอยู่ในตัว จงดำรงอยู่ต่อไป และขอให้ยังความเป็นสิริมงคล จงบังเกิดแก่ตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ประสบแต่ความสุขความเจริญในทางที่ดีงาม

การปิดทองด้านหลังองค์พระ คงเป็นเคล็ดบางอย่างที่ทรงมีพระราชดำริ ในการที่จะทรงปลูกฝังนิสัยให้ผู้รับพระราชทาน นำไปคิดเป็นทำนองว่า การที่บุคคลใดจะทำกุศลหรือ ประโยชน์สาธารณะใดๆ พึงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยแท้จริง มิได้หวังลาภยศ ชื่อเสียงทำนองคติโบราณที่ว่า "ปิดทองหลังพระ"

พระพุทธรูปพิมพ์องค์นี้ ผู้รับพระราชทานได้ขนานนามกันเป็นภายในว่า "สมเด็จจิตรลดา"

ส่วนคำว่า "พระกำลังแผ่นดิน" นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระองค์ท่านคือ "ภูมิพล" คำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" คำว่า "พล" แปลว่า "กำลัง" จึงเป็นที่มาของพระนามองค์พระ "สมเด็จจิตรลดา" อีกพระนามหนึ่งว่า "พระกำลังแผ่นดิน"

พระสมเด็จจิตรลดา จะพระราชทานให้แก่เฉพาะข้าราชบริพาร ข้าราชการหลายระดับ แต่ทราบกันภายในว่า ไม่ทรงโปรดให้เป็นข่าวแพร่สะพัด ผู้ที่ได้รับพระราชทานส่วนใหญ่ถือเป็น "ของดีของสูง" และเป็น "ส่วนพระองค์" โดยแท้ จึงไม่มีใครกล้าปริปากบอกใครต่อ

ต่อเมื่อความศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธคุณของ สมเด็จจิตรลดา ได้ปรากฏออกมา ความดังนั้นก็เก็บไม่อยู่ พสกนิกรของพระองค์อีกจำนวนมาก ต่างก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานอย่างไม่ขาด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สร้างขึ้นอีกจำนวนมาก นับเป็นพันๆ องค์ พระองค์ได้พระราชทานให้กับพสกนิกรผู้ประกอบแต่กรรมดี โดยมิได้เลือกชั้น วรรณะ

นับตั้งแต่นักการเมือง นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ลงมาถึงระดับคนขับรถ คนทำสวน แม่ครัว และบรรดาข้าราชการทหารที่ออกไปร่วมรบในสมรภูมิต่างๆ เช่น เวียดนาม และลาว ผู้บังคับบัญชาในระดับสูง จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้แก่นายทหาร ตั้งแต่ชั้นสัญญาบัตร ลงมาถึงนายทหารชั้นผู้น้อย ในจำนวนที่ไม่มากนัก ซึ่งจะทรงมีพระราชวินิจฉัยด้วยพระองค์เองว่า จะมีพระบรมราชานุญาตหรือไม่ จำนวนเท่าใด แต่การขอพระราชทานจะต้องขอพระราชทานต่อพระองค์เท่านั้น จะไม่พระราชทานให้ผู้ใดที่ไม่ได้ขอพระราชทาน

พระสมเด็จจิตรลดา ทุกองค์ จะได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะมี ใบพระราชทาน (ใบกำกับพระพิมพ์) ขนาดกว้างประมาณ ๑๒.๗ ซม. ยาว ๑๕.๘ ซม. พื้นสีขาว ด้านบนมีภาพพิมพ์องค์ พระสมเด็จจิตรลดา ประกอบอยู่ แต่ไม่ใช่องค์ที่พระราชทานให้ ขนาดจะใหญ่กว่าองค์พระจริงเล็กน้อย สีน้ำตาลเข้ม เป็นเอกสารส่วนพระองค์

เอกสารสำคัญฉบับนี้ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะแจ้งให้มารับภายหลัง จากวันที่ได้รับพระราชทานองค์พระ โดยไม่มีหมายกำหนดที่แน่นอน

อย่างไรก็ตาม มีการประมาณการว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง พระสมเด็จจิตรลดา พระพุทธรูปพิมพ์ไม่มากไปกว่า สามพันองค์ เนื่องจากแพทย์หลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำว่า พระองค์ทรงแพ้สารเคมีและผงฝุ่นบางชนิดในส่วนผมขององค์พระ ทำให้พระองค์ทรงพระประชวรด้วยพระโรคทางเดินหายใจบ่อยครั้ง ในช่วงหลังๆ

อีกทั้งพระองค์ท่านทรงไม่อยากเห็นพสกนิกรผู้ปรารถนาในพระพุทธรูปพิมพ์ของพระองค์อีกจำนวนมาก จะต้องสิ้นทรัพย์มากเป็นหมื่นๆ อย่างขาดสติ เป็นเหยื่อของคนสิ้นคิด ซึ่งแอบทำพระพุทธรูปพิมพ์นี้ปลอมกันออกมามาก ในระยะนั้น

ดังนั้นในราวปลายปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ จึงไม่ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปพิมพ์นี้ โดยพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกเลย

สำหรับความเป็นมาของการสร้าง พระสมเด็จจิตรลดา นั้น ในช่วงเวลาก่อนที่จะทรงมีพระราชดำริให้สร้าง พุทธนวราชบพิตร ในราวปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้ามาเป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปพิมพ์นี้ ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และได้ทรงตรวจพระพุทธศิลปฯ ของพระพุทธรูปพิมพ์องค์นี้ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

พระพุทธรูปพิมพ์ ที่แกะถวายนั้น เป็น พระพุทธรูปพิมพ์นั่งปางสมาธิแบบขัดราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ประทับเหนือดอกบัวบานบน ๕ กลีบ ล่าง ๔ กลีบ รวมเป็น ๙ กลีบ รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขนาดกว้าง ๒ ซม. สูง ๓ ซม.และองค์เล็กขนาดกว้าง ๑.๒ ซม. สูง ๑.๙ ซม.

พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยทรงใช้เวลาหลังจากทรงพระอักษร และทรงงานอันเป็นพระราชภารกิจในตอนดึก ประกอบด้วยผงมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งส่วนในพระองค์ และวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัด ที่พุทธศาสนิกชนทั่วพระราชอาณาจักร ปฏิบัติบูชาสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านาน

ขอขอบคุณ คุณประมุข ไชยวรรณ ผู้จัดทำ หนังสือพระพิมพ์จิตรลดา พระพิมพ์ฝีพระหัตถ์ขององค์ประมุขของชาติ ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคุณค่าต่อวงการ และผู้ศึกษาพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง มีความสมบูรณ์ทั้งภาพและเนื้อหา... หนังสือเล่มนี้นับเป็นหนังสือหายากอีกเล่มหนึ่ง

2 ความคิดเห็น: