วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พระผงสุพรรณ


จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากเป็นดินแดนแห่ง ยุทธหัตถีแล้ว ยังเป็นเสมือนเมืองแห่งพระเครื่อง พระบูชา หลายสิบชนิด ตั้งแต่สมัยอมรวดี ทวาราวดี ศรีวิชัย ปาละ ลพบุรี อู่ทอง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ในจำนวนพระที่ขุดพบนั้น พระผงสุพรรณ กรุวัด พระศรีรัตนมหาธาตุ ถือว่าเป็นสุดยอดของพระทั้งหมด โดยจัดให้อยู่ในชุดพระเบญจภาคี

แม้ว่าไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้างที่ชัดเจน แต่มีหลักฐาน ที่สำคัญต่อ การศึกษาของวงการพระเครื่อง พระบูชา คือ ลานทอง ๓ แผ่น ซึ่งเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ของการสร้างวัด สร้างพระเครื่องและพระบูชา โดยเฉพาะแผ่นที่ ๒ ซึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแปลไว้ว่า


"ศุภมัสดุ ๑๒๖๕ สิทธิการิยะ แสดงบอกไว้ให้รู้ว่า ฤาษีทั้งสี่ตน พระฤาษีพิมพิลาไลย์เป็นประธาน เราจะทำด้วยฤทธิ์ ทำด้วยเครื่องประดิษฐ์ มีสุวรรณ เป็นต้น คือบรมกษัตริย์พระยาศรีธรรมโศกราชเป็นผู้ศรัทธา พระฤาษีทั้งสี่ตน จึงพร้อมกันนำเอาแด่ว่านทั้งหลาย พระฤาษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกัน ทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี ศรีสาริบุตร คือ เป็นใหญ่ เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่างๆ มีอานุภาพต่างกัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วท่านให้เอาไป ประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม(สุพรรณบุรี) ถ้าผู้ใดพบเห็นให้รับเอาไปไว้สักการบูชาเป็นของวิเศษ แม้จะมีอันตรายประการใดก็ดี ให้อาราธนาผูกไว้ที่คอ อาจคุ้มครองภยันตรายได้ทั้งปวง เอาพระสงสรงน้ำมันหอม แล้วนั่งบริกรรม พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ๑๐๘ จบ พาหุง ๑๓ จบ ใส่ชันสัมฤทธิ์ นั่งสันนิษฐานเอาความปรารถนาเถิดให้ทาทั้งหน้าและผม คอหน้าอก ถ้าจะใช้ทางเมตตา ให้มีสง่า เจรจาให้คนทั้งหลายเชื่อฟังยำเกรง ให้เอาพระไว้ในน้ำมันหอม เสกด้วยคาถานวหรคุณ ๑๓ จบ พาหุง ๑๓ จบ พระพุทธคุณ ๑๓ จบ ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนทำพิธีในวันเสาร์ น้ำมันหอมเก็บไว้ใช้ได้เสมอทาริมฝีปาก หน้าผาก และผม ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกสรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี อย่างประมาทเลย อานุภาพพระทั้ง ๓ อย่างนี้ดุจกำแพงแก้วกันอันตรายทั้งปวงแล้วให้ว่าคาถาทแยงแก้วกันอันตรายทั้งปวง แล้วให้ว่าคาถาทแยงสันตาจนจบพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณจนจบพาหุงไปจนจบแล้วให้ว่าดังนี้อีก กะเตสิกเกกะระณังมหาไชยังมังคะ สังนะมะพะทะ แล้วให้ว่า กิริมิติ กุรุมุธุ เกเรเมเถ กะระมะทะประสิทธิแล”

แต่สาเหตุที่เรียกว่า “ผงสุพรรณ” ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “ผงสุพรรณ” เรื่อยมา

ศิลปะพระผงสุพรรณมีความสัมพันธ์กับศิลปะพระพุทธรูปประเภทหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง เนื่องมาจากแหล่งต้นกำเนิดของพระผงสุพรรณอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของศิลปะทางศาสนาที่เรียกว่า ศิลปะอู่ทองประการหนึ่ง นอกจากนี้ ลักษณะการแบ่งแม่พิมพ์พระผงสุพรรณยังจำแนกและเรียกชื่อแม่พิมพ์ตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปอู่ทอง ซึ่งได้แก่ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม อีกด้วย

ในความเป็นจริงแล้วศิลปะอู่ทองเป็นศิลปะแห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมัยทวาราวดีกับสมัยขอมหรือเขมร ต่อมาช่วงหลังได้ผสมผสานศิลปะของสุโขทัยเข้าไปด้วย จนกลายเป็นพุทธศิลปะที่เกิดจากการผสมผสานโดยมีอายุตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวคือ เมื่อสิ้นยุคทวาราวดีขอมได้มีอำนาจ ในดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ศิลปกรรมแห่งทวาราวดียังคงสืบทอดต่อเนื่อง โดยผสมผสานศิลปะของขอมเข้าไป ก่อนที่สุโขทัยจะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐและความเจริญทางด้านพุทธศาสนาต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ศิลปะอู่ทองเดิมจึงผสมผสานกับศิลปะสุโขทัยอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเราอาจแยกประเภทศิลปะของอู่ทองได้ดังนี้

๑. ศิลปะอู่ทองยุคแรก มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ศิลปะจะเป็นแบบผสมผสานระหว่างศิลปะทวาราวดีกับศิลปะขอม สามารถจำแนกออกเป็น - ศิลปะอู่ทอง สกุลช่างลพบุรี รู้จักกันในชื่อ “อู่ทองเขมร” “อู่ทอง-ลพบุรี” หรือ “อู่ทอง-ฝาละมี” - ศิลปะอู่ทอง สกุลช่างสุพรรณบุรี รู้จักกันในชื่อ “อู่ทอง-สุวรรณภูมิ” มีลักษณะคล้ายมนุษย์มาก ท่างดงามสุดยอด จะเรียกตามภาษาวงการพระว่า “สันแข้งคางคน”

๒. ศิลปะอู่ทองยุคที่สอง มีอายุอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ศิลปะจะผสมผสานระหว่างศิลปะอู่ทองยุคแรกกับศิลปะสุโขทัย ช่างสมัยจะคาบเกี่ยวกันระหว่างศิลปะสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น รู้จักกันในชื่อ “อู่ทอง-อยุธยาตอนต้น”

๓. ศิลปะอู่ทองยุคที่สาม มีอายุอยู่ในราว พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๙๑ อยู่ในช่วงสมัยสมเด็จพระนครินทราชา สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จนถึงต้นรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ศิลปะจะได้รับอิทธิพลของอยุธยามากขึ้น (จากการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณข้างศาลาหลวงพ่อเหย ด้านทิศตะวันตกห่างจากองค์ปรางค์ประธาน ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๐ เมตร พบแม่พิมพ์พระดินเผา ขนาดกว้าง ๓ ซ.ม. สูง ๔๒ ซ.ม. เป็นแม่พิมพ์พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่แต่ท่อนล่างหกชำรุด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น