วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พุทธเอกลักษณ์พระผงสุพรรณ


พระผงสุพรรณ เป็นพระเครื่องที่พบในกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา จำลองพุทธลักษณะองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะการปางมารวิชัย แบ่งแยกแม่พิมพ์ได้เป็นพิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม (สมัยโบราณเรียกพิมพ์หน้าหนู) องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานเชียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา ส่วนพระการทอดเรียว แสดงออกถึงศิลปะสกุลช่างอู่ทองที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เมื่อพบพิมพ์พระ ๓ ประเภท จึงเรียกชื่อตามลักษณะพระพักตร์และตามศิลปะสกุลช่างแห่งพระพุทธรูปที่พระพักตร์เหี่ยวย่นเหมือนคนแก่ เรียกว่า พิมพ์หน้าแก่ ที่พระพักตร์อิ่มเอิบเรียวเล็ก ปราศจากรอยเหี่ยวย่น เรียกว่าพิมพ์หน้าหนุ่ม

พระผงสุพรรณนั้นปรากฏตามจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างว่า “……..พระฤๅษีทั้งสี่ตนจึงพร้อมกันนำเอาแต่ว่านทั้งหลาย พระฤๅษีจึงอัญเชิญเทวดามาช่วยกันทำพิธีเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่งแดง สถานหนึ่งดำ ให้เอาว่านทำเป็นผงก้อน พิมพ์ด้วยลายมือของมหาเถระปิยะทัสสะสี ศรีสารีบุตรคือ เป็นใหญ่เป็นประธานในที่นั้น ได้เอาแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน เสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน แล้วท่านให้เอาไปประดิษฐ์ไว้ในสถูปแห่งหนึ่งที่เมืองพันทูม… ถ้าผู้ใดพบพระตามที่กล่าวมานี้ พระว่านก็ดี พระเกสรก็ดี ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี……”

ความหมายจากจารึกลานทองได้กล่าวถึงประเภทของพระผงสุพรรณไว้ ๒ ชนิด ได้แก่ พระเนื้อดินที่มีส่วนผสมจากว่านและเกสรต่าง ๆ โดยเป็นพระเนื้อดินเผาตามกรรมวิธีการสร้างพระพิมพ์สมัยโบราณ สี
พระผงสุพรรณจึงเป็น “สถานหนึ่งดำ สถานหนึ่งแดง” และอีกชนิดหนึ่งได้แก่ พระผงสุพรรณที่ทำจากแร่ธาตุโลหะซึ่งเรียกตามจารึกว่า “ได้เอาแร่ต่าง ๆ มีอานุภาพต่างกัน….ถ้าผู้ใดพบพระ…..ทำด้วยแร่สังฆวานรก็ดี” ซึ่งหมายถึงพระผงสุพรรณเนื้อชินที่รู้จักกันในชื่อ “พระผงสุพรรณยอดโถ”

สำหรับ
พระผงสุพรรณเนื้อดินนั้น เป็นพระเครื่องที่มีส่วนผสมวัสดุมวลสารจากดินละเอียด ว่าน และเกสรต่าง ๆ คนโบราณเรียกว่า “พระเกสรสุพรรณ” จะสังเกตได้ว่าเนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด หากเปรียบเทียบกับพระนางพญากรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก แล้วจะเห็นว่าเนื้อพระผงสุพรรณจะละเอียดกว่า แต่ไม่ละเอียดมากเหมือน พระรอดกรุวัดมหาวัน จ.ลำพูน ซึ่งดินที่ใช้เป็นดินในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งดินแต่ละที่จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน สำหรับปัญหาที่ว่า หากผสมว่านเมื่อพระผ่านการเผา มวลสารของว่านจะไม่สามารถทนอุณหภูมิความร้อนได้ ต้องย่อยสลายไปนั้น หากพิจารณาแล้วในองค์พระผงสุพรรณก็ไม่ปรากฏโพรงอากาศอันเกิดจากการย่อยสลายของเนื้อว่าน แต่อย่างใดนั้น ต้องพิจารณาถึงกรรมวิธีการสร้างพระของโบราณาจารย์เป็นสำคัญว่า มีหลายวิธี วิธีประการหนึ่งซึ่งพบหลักฐานในการนำว่านผงเกสรมงคล ๑๐๘ มาเป็นวัตถุมงคลในการสร้างพระ ได้แก่ การนำหัวว่านมงคลต่าง ๆ มาคั้นเอาน้ำว่านเป็นส่วนผสมเข้ากับมวลสารอื่น ๆ ซึ่งจะพบว่าพระผงสุพรรณนั้นมีความหนึกนุ่ม และซึ้งจัด หากได้โดนเหงื่อโคลนแล้ว ยิ่งขึ้นเป็นมันเงางามอย่างที่คนโบราณเรียกว่า “แก่ว่าน” ซึ่งได้แก่การคั้นน้ำว่านผสมลงไป ดังนั้น เมื่อผ่านการเผาจึงมิได้เกิดการย่อย สลายของเนื้อว่าน

เนื่องจาก
พระผงสุพรรณเนื้อดินเป็นพระที่ผ่านการเผาไฟ สีสันขององค์พระจึงเป็นเฉกเช่นเดียว กับพระเนื้อดินที่ผ่านการเผาประเภทอื่น ๆ คือ มีตั้งแต่สีเขียวที่ถูกเผาในอุณหภูมิสูงและนานที่สุด สีแดง สีมอย สีน้ำเงินเข้ม สีเทา ไปจนถึงสีดำแต่ปัจจุบันนี้มีถึง ๔ สี คือ ดำ แดง เขียว และขาว
สีขาวและสีเขียวเป็นสีนิยมมากที่สุด รองลงมาคือสีแดง ส่วนสีดำเป็นอันดับสุดท้าย ส่วนเหตุผลที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสุดท้ายน่าจะมากจาก สีดำทำปลอมได้ง่ายกว่าสีอื่น จึงทำให้เซียนพระไม่กล้าเก็บไว้

แม่พิมพ์มีความสำคัญในการพิจารณาพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง พุทธเอกลักษณ์ของแม่พิมพ์ นอกจากจะแสดงถึงศิลปะของสกุลช่างที่ปรากฏยังเป็นสิ่งพิสูจน์ความแท้-เทียมขององค์พระ การแกะสลักแม่พิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหินสบู่ หินชนวน หรือแม่พิมพ์ดินเผา จะเป็น “ต้นแบบ” ที่ยากจะทำเลียนแบบได้ หากนำองค์พระไปถอดพิมพ์เพื่อทำพิมพ์ใหม่ องค์พระจะมีขนาดเล็กลง ซึ่งในสายตาผู้ชำนาญการจะสังเกตได้ จุดสังเกตที่ภาษานักสะสมพระเรียกว่า “จุดตาย” นั้นก็คือเอกลักษณ์หรือตำหนิในแม่พิมพ์ โดยเฉพาะส่วนลึกที่สุดขององค์พระ จะเป็นส่วนสูงที่สุดของแม่พิมพ์ซึ่งไม่คลาดเคลื่อนไม่ว่าพระองค์นั้นจะกดลึกหรือกดตื้น แต่ตำหนิสำคัญก็จะคงอยู่ สำหรับพระผงสุพรรณนั้น สามารถแยกแม่พิมพ์ออกเป็น ๓ แบบด้วยกันคือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม



พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ นั้นเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาศิลปะอู่ทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย บานฐานเชียง พระพักตร์มีเค้าความเหี่ยวย่น คล้ายคนชราภาพ เป็นที่มาของชื่อ “พิมพ์หน้าแก่” ซึ่งมีจุดสังเกตดังนี้ - พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่ มีเพียงแม่พิมพ์เดียว สาเหตุที่ดูเผิน ๆ แตกต่างกันนั้น เนื่องมาจากการผ่านการเผา ทำให้ได้รับความร้อนไม่เท่ากัน ส่งผลให้ขนาด สีสัน วรรณะ การหดตัวไม่เท่ากัน นอกจากนี้การตัด การบรรจุกรุ สภาพการใช้ยังส่งผลต่อการพิจารณาพระผงสุพรรณด้วย - พระเนตรด้านซ้ายขององค์พระยาวรีลึก ปลายพระเนตรตวัดขึ้นสูงกว่าพระเนตรด้านขวา - พระนาสิกหนาใหญ่ สองข้างมีร่องลึกลงมารับพระโอษฐ์ ซึ่งแย้มเล็กน้อย - พระกรรณขวาขององค์พระจะขมวดคล้ายมุ่นมวยผม ไรพระศกทอดยาวลงมามากกว่าพระกรรณด้านซ้าย - เกือบบนสุดของพระกรรณขวามีร่องลึก เหมือนร่องหู และพระกรรณด้านบนเหนือร่องจะหนาใหญ่โค้งคล้ายใบหูมนุษย์ - ด้านในของพระกรรณซ้ายจะมีเม็ดผดคล้ายเมล็ดข้าวสารวางสลับไปสลับมาเรื่อยมาถึงปลายพระกรรณ - พระอุระใหญ่ก่อนจะคอดกิ่วมาทางพระนาภีคล้ายหัวช้าง - ระหว่างพระอุระกับพระอังสะซ้ายขององค์พระเว้าลึกปรากฏเป็นรอยสามเหลี่ยม - มีเส้นบาง ๆ ลากผ่านเหนือพระอังสะซ้ายไปจรดขอบนอกพระอุระด้านซ้ายปลายเส้นปรากฏเม็ดผดเล็ก ๆ ขึ้นเรียงรายได้ราวนมซ้าย - พระหัตถ์ซ้ายหนาใหญ่อยู่กึ่งกลางลำพระองค์ ปลายพระหัตถ์ไม่จรดพระกรขวา เหมือนพิมพ์หน้ากลาง มองเห็นร่องพระหัตถ์ชัดเจน - ข้อพระกรขวาขององค์พระด้านในเว้าลึก


พระผงสุพรรณพิมพ์หน้ากลาง มีพุทธลักษณะเนื้อหาทรวดทรงสัณฐานเช่นเดียวกับพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่แต่เค้าพระพักตร์จะไม่เคร่งขรึมเหี่ยวย่นเหมือนพิมพ์หน้าแก่ ดูอิ่มเอิบสดใส คล้ายหน้าหนุ่มที่ไม่สูงวัยมาก และจะมีแม่พิมพ์เพียงพิมพ์เดียว มีลักษณะที่น่าสังเกตดังนี้ - พระพักตร์อิ่มเอิบ ไม่เหี่ยวย่นชราภาพเหมือนพิมพ์หน้าแก่ - พระเนตรทั้งสองข้างไม่จมลึกเท่าพิมพ์หน้าแก่ ปลายพระเนตรด้านซ้ายขององค์พระตวัดเฉียงขึ้นเล็กน้อย หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่ารูปพระพักตร์ระหว่างพระเนตรทั้งสองข้างวางได้ระดับเท่ากันทั้งสองข้างไม่เอียงเหมือนพิมพ์หน้าแก่ - พระกรรณทั้งสองข้างจะเป็นเส้นเอียงลงตามเค้าพระพักตร์และมีความยาวเกือบเท่ากันทั้งสองข้าง -ในองค์ที่ติดพิมพ์ชัด ปลายพระกรรณขวาขององค์พระจะเรียวยาวคล้ายจงอยที่ปลายงอเข้าหาด้านในเล็กน้อย ส่วนปลายพระกรรณซ้ายขององค์พระจะแตกเป็นหางแซงแซว - พระอุระผายกว้างและสอบเพรียวตรงพระนาภีดูคล้ายหัวช้าง - พระหัตถ์ซ้ายวางที่หน้าตัก แต่ให้สังเกตปลายพระหัตถ์ก็จะยาวยื่นไปเกือบชนลำพระกรขวาขององค์พระ ซึ่งจะแตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้าหนุ่ม - ข้อพระกรขวาเว้าลึกอย่างเห็นได้ชัด - ในองค์ที่ติดชัดข้างฝ่าพระหัตถ์ขวามีติ่ง เนื้อเกินเล็ก ๆ วิ่งจากโคนนิ้วขึ้นด้านบน



พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าหนุ่ม เป็นพิมพ์ที่มีความลึก คมชัดเป็นอย่างยิ่ง ดูจากสภาพองค์พระที่ปรากฏจะเห็นลักษณะการถอดออกจากแม่พิมพ์ค่อนข้างยากกว่าพระผงสุพรรณพิมพ์อื่น เหตุเพราะแม่พิมพ์มีความลึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จึงพบองค์สภาพสมบูรณ์น้อยมาก พระพักตร์จะดูอ่อนเยาว์ สดใสและเรียวเล็กกว่าพิมพ์อื่น สมัยโบราณเรียกว่า “พิมพ์หน้าหนู” ซึ่งพระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่มนี้มีแม่พิมพ์เดียว มีข้อสังเกตดังนี้ - พระพักตร์ดูอ่อนเยาว์ สดใส แตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้ากลางอย่างเห็นได้ชัด - พระเนตรทั้งสอข้างอยู่ในระนาบเดียวกัน ปลายพระเนตรซ้ายขององค์พระ ยกเฉียงขึ้นเล็กน้อย - พระนาสิกหนาใหญ่ตั้งเป็นสัน - ริมพระโอษฐ์หนา - พระกรรณจะแตกต่างจากพิมพ์หน้าแก่และพิมพ์หน้ากลาง กล่าวคือ ตั้งขึ้นเป็นสันแนบชิดกับพระพักตร์และยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะทั้งสองข้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น